Jimi ni Sugoi! : สาวพิสูจน์อักษรที่ไม่ใช่แค่ตรวจคำผิด [2016] - KJ's E V E R Y T H I N G

KJ's   E V E R Y T H I N G

A place where I collect the pieces of my memory.

Latest

Home Top Ad

Sunday, March 8, 2020

Jimi ni Sugoi! : สาวพิสูจน์อักษรที่ไม่ใช่แค่ตรวจคำผิด [2016]

Jimi ni Sugoi! Kōetsu Girl: Kouno Etsuko  
地味にスゴイ! 校閲ガール・河野悦子 
(Pretty Proofreader) , NTV 2016


Jimi ni Sugoi อีกหนึ่งละครอาชีพแปลกๆ ของญี่ปุ่น นางเอก Etsuko (Ishihara Satomi) ใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนให้กับนิตยสารแฟชั่น Lassy เธอจำได้ทุกหน้า ทุกบทความ เรียกว่าคลั่งไคล้แฟชั่นสุดขีด เธอสมัครงานที่ Lassy ถึง 7 ครั้ง จนสุดท้ายได้ทำงานในสำนักพิมพ์ แต่ไม่ใช่ Lassy กลับเป็นฝ่ายพิสูจน์อักษร ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบทั้งการสะกด และความถูกต้องของข้อมูลในนิยาย วรรณกรรม บาทความของสำนักพิมพ์ เธอทำงานและหวังว่าจะไต่เต้าไปเป็นบรรณาธิการแฟชั่นได้ในที่สุด และนางเอกของเราต้องเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับฝ่ายพิสูจน์อักษร แล้วยังมีเรื่องความรักกับนักเขียนนายแบบประจำ Lassy อย่าง Yukito (Suda Masaki) และรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัยที่ไม่แฟชั่นจี๊ดเท่าเธอ แต่กลับได้ทำงานที่ Lassy คือ Toyoko (Honda Tsubasa)

ฉากหน้า เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นพล็อตการทำงานทั่วไปมาก คือการต่อสู้ เจอปัญหาในที่ทำงาน แก้ๆ แล้วจบไป แต่ความน่าสนใจคือดีเทลของอาชีพพิสูจน์อักษร ที่ไม่ได้มีแค่ตรวจคำผิด คุณจะเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพนี้ขึ้นอีกเยอะ และอีกฉากหน้าที่เป็นจุดขายของเรื่องนี้สุดๆ ก็คือแฟชั่นของตัวนางเอก ซึ่งยอมรับว่าแฟชั่นแบบ Materialism จริงๆ ถ้าไม่ใช่เบอร์ซาโตมิ หรือชมพู่แต่งอาจจะไม่รอด 


ในละครจะมี Scene Capture ภาพโชว์การแต่งตัวแฟชั่นของนางเอกทุกชุด

เมื่อเราตั้งใจดูจริงๆ มันมีประเด็นหนึ่งที่เราประทับใจเรื่องนี้คือ 'อาชีพที่คนไม่เคยรู้ แต่ขาดมันไม่ได้'

การพิสูจน์อักษร ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ นั้นหนักหนาสาหัสไม่แพ้แผนกอื่น อย่างในนิยายฆาตกรรม พิสูจน์อักษรถึงกับต้องสร้างบ้านที่ตัวเอกอยู่ ว่าถูกต้องตามหลัก จนสามารถมีคนเข้ามาแอบ และลอบฆ่าได้ไหม


หรือนิยายที่เกี่ยวกับการเดินทางมี key หลักคือเวลาเดินของรถไฟ เขาก็ต้องมานั่งเปิดตารางเวลารถไฟกว่าพันขบวน ว่าถูกต้องไหม 

หรือการออกไปยังสถานที่จริง เพื่อดูว่าเราจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้ถูกต้องตามเวลาที่นิยายกล่าวไว้ไหม

พวกเขาเป็นคนที่ตรวจสอบโดยไม่มีใครรับรู้ถึงหนักหนาของแผนกนี้


นางเอก บุคคลที่ Materialist มาก แน่นอนว่าต้องการมีตัวตนในสังคม เป็นที่จับจ้อง รู้จัก เมื่อมาทำอาชีพพิสูจน์อักษร อาชีพหลังม่าน เธอกลายเป็น Loser อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เธอเลยรู้สึกในตอนแรกว่า ต้องพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด เพื่อจะได้ถูกชื่นชม เลื่อนขั้น เป็นนักเขียนได้ แต่เมื่อทำเท่าไหร่ก็ไม่มีใครเห็นค่าเหมือนเดิม มีแต่ตอกย้ำซ้ำเติมด้วยซ้ำ

พระเอก บุคคลที่ไม่รู้จักตัวเอง ลูกชายนักเขียน ที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน แต่ก็อยากต่อต้านครอบครัวตามประสาวัยรุ่น เลยเป็นนักเขียนแบบแอบๆ ใช้สมญานามแทน
 จู่ๆ ได้เป็นนายแบบประจำ Lassy ซึ่งพวกนี้ก็ทำให้เกิดความลังเลกับช่วงวัยกำลังเปลี่ยนแปลง ว่าจะทำอะไร ชอบอะไรกันแน่ เพราะนายแบบเขาก็ได้รับการโหวตดีเด่น แต่เขากลับไม่แฮปปี้เท่าที่ควร ด้านนักเขียน หนังสือที่เขาเขียน นางเอกอ่านกลับบอกว่าไม่สนุก ทำห้เขาเริ่มลังเลว่าอนาคตจะเขียนเรื่องอะไร

สุดท้ายสิ่งพระเอกมองเห็นนางเอกมาโดยตลอด ทั้งทำงานหนัก ตรวจสอบอย่างขยันขันแข็ง ออกพื้นที่จริงเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จนเกิดแรงบันดาลใจมาเขียนหนังสือ ก็คือเรื่องราวของคนข้างหลัง อาชีพที่ถูกลืม


ใครจะรู้ว่ามีเจ้าหน้าที่วิศวกรมาตรวจสอบสนามเด็กเล่นยามกลางคืนทุกวัน เพื่อที่เด็กมาเล่นทุกวันจะไม่เกิดอุบัติเหตุ
ใครจะรู้ว่ามีวิศวกรไฟฟ้า ทำงานตรวจสอบสายไฟยามที่ทุกคนนอนหลับกันหมดแล้ว
ใครจะรู้ว่ามีคนคอยตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือเพื่อให้คนอ่านได้อ่านสนุก พร้อมกับความถูกต้องของข้อมูล




อันนี้อินมากเป็นพิเศษเพราะคนทำงานเบื้องหลังอย่างเราคือแทบไม่มีใครพูดถึงในฉากหน้า อาจจะเรียกว่ามันเป็นอาชีพอยู่ต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร แต่ทุกอย่างเบื้องหน้าจะเดินไม่ได้ถ้าไม่มีคนเบื้องหลัง

แน่นอนว่าละครญี่ปุ่นต้องประโยคสร้างกำลังใจเด็ดๆ คราวนี้อาจจะไม่ใช่การบอกว่าคุณเก่ง คุณทำดี แต่เป็นประโยคที่ 
Naoto พูดกับ Etsuko...
ทุกวันที่เขาเข้าประชุม ไม่เคยมีใครจำเขาได้เลยว่ามาจากฝ่ายพิสูจน์อักษร แต่เขากลับบอกว่าดีใจมากที่ประธานไม่เรียก หรือถามหาเขาเลย เพราะแสดงว่าเขายังไม่ทำความผิดอะไรให้มีเหตุต้องเรียกหา
นางรองแต่ฝีมือการแสดงเลเวลนางเอกอย่าง Toyoko บุคคลที่ไม่มั่นใจในสิ่งที่เป็นอยู่เช่นเดียวกัน เธอเป็นคนที่เหมือนจะโชคดี ได้ทำงานนิตยสารดัง แต่เธอกลับไม่มั่นใจในตัวเองว่าทำได้ คิดเดินตามหลังหัวหน้าตลอดเวลา เวลามีงานรับผิดชอบ ก็มักจะหัวตัน คิดไม่ออก ไม่กล้าลงมือ แต่ก็ได้แรงผลักดันจากคนรอบข้าง สนับสนุนให้กล้าเดินออกมาจากเงามืด

Jimi ni Sugoi นั้นดีกว่าการเป็นแค่ละครอาชีพแปลกๆ สักเรื่องสำหรับเรา ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราไม่มั่นใจกับตัวตนของเรา ไม่มั่นในหนทางข้างหน้าว่าจะเดินไปแบบไหน หรือแม้แต่ไม่เห็นคุณค่าในงานที่ทำอยู่ Jimi ni Sugoi ทำให้เราต้องหันไปมองบางอย่างของชีวิตในอีกมุม และทำมันให้ดียิ่งขึ้น

แน่นอนว่าญี่ปุ่นต้องการ ปลูกฝังให้คนรักงาน และเห็นคุณค่าของงานตัวเองแม้ใครจะมองไม่เห็น
 เพื่อที่คนจะได้ไม่ลาออกจากงาน ตั้งใจทำงานของตนมากขึ้น ทำงานแบบญี่ปุ่นคือทุ่มเทสุดตัว และคิดว่าละครเรื่องนี้ก็คงมีส่วนทำให้คนในสังคมตระหนักถึงอาชีพที่ไม่มีตัวตนในสายตาคนส่วนใหญ่ขึ้นมาบ้าง






No comments:

Post a Comment